ประวัติและความเป็นมา

“วัดสังฆบารมีเป็นบารมี ๑ใน ๓ ของวัดคณะสงฆ์ธรรมยุตที่ตั้งอยู่ในทวีปยุโรป บารมีแรกคือ “วัดพุทธบารมี” ณ เมืองฮัมบวร์ก ประเทศเยอรมันนี บารีมีที่สองคือ “วัดธรรมบารมี” ณ เมืองดอร์ทมูนด์ ประเทศเยอรมันนีเช่นเดียวกัน ส่วนอีกบารมีเป็นบารมีที่สามคือ “วัดสังฆบารมี” ณ เมืองอีสเลิฟ ประเทศสวีเดน”

เมื่อสะพานข้ามทะเลเออริซุนสร้างเสร็จในปี พ.ศ. ๒๕๔๓ การคมนาคมระหว่างสวีเดนและเดนมาร์กนก็สะดวกขึ้นมาก เนื่องจากก่อนหน้านั้น การเดินทางไปมาระหว่างสองประเทศถือว่าลำบากและใช้เวลานานมากทีเดียว ในวันที่ ๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๓ มีการเปิดใช้สะพานข้ามทะเลเออเรซุน ทำให้รถไฟและรถยนตร์สามารถข้ามไปมาระหว่างสวีเดนและเดนมาร์กได้อย่างสะดวกสบายและรวดเร็ว

ในขณะนั้น ทางภาคใต้ของสวีเดนยังไม่มีการก่อตั้งวัดใด ๆ หากคนไทยที่อาศัยอยู่ทางภาคใต้ของสวีเดนต้องการไปวัด ก็จำต้องเดินทางข้ามไปยังวัดป่าโคเปนเฮเกนที่อยู่ในเดนมาร์ก ซึ่งเป็นวัดที่ใกล้ที่สุด หรือบางครั้งอาจต้องนิมนต์พระสงฆ์จากวัดป่าโคเปนเฮเกนมายังสวีเดน แต่ด้วยจิตศรัทธาและความต้องการให้มีวัดทางภาคใต้ของสวีเดน คณะสงฆ์ของวัดป่าโคเปนเฮเกนจึงจัดการระดมหาทุนเพื่อสร้างวัด โดยการรับกิจนิมนต์ต่าง ๆ ในภาคใต้ของสวีเดน และได้จัดงานเทศน์มหาชาติ โดยท่านเจ้าคุณพระราชวิจิตรปฎิภาณ (ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสุทัศน์) พระราชธรรมวาทีและพระครูธรรมธรสุภาพ จิตฺตสุโภ

“พอรู้ว่าจะมีวัดที่เอสเหลิฟก็ดีใจนะที่จะมีวัดไทยในภาคใต้ของสวีเดนเพราะว่ากว่าจะไปเดนมาร์กก็นั่งรถหลายต่อ บางคนก็ไปไม่ได้ ตอนนี้มีวัดที่เอสเหลิฟแล้วก็ดีใจที่จะได้มาทำบุญท่ีวัดง่ายขึ้น” (ป้าปราณี จากบทสัมภาษณ์ในหนังสือครบรอบ ๕ ปีวัดสังฆบารมี)

ข่าวของความต้องการสร้างวัดได้กระจายไปทั่ว ผู้คนต่างบริจาคเงินและร่วมสมทบทุน ประกอบกับคุณนงลักษณ์ที่เดินทางไปปฏิบัติธรรมที่วัดป่าโคเปนเฮเกนแจ้งให้ทางวัดป่า ฯ ทราบว่า มีสามีภรรยาคู่หนึ่ง (นางประทิน (เอ๊ะ) และนาย Stein) ต้องการที่จะถวายที่ดินเปล่าให้เพื่อสร้างวัด เป็นที่ดินขนาด ๑๒ ไร่ตั้งอยู่ที่ Nora Rörum ในเมืองเฮอร์ (Höör) ที่ดินที่นั้น รายรอบด้วยต้นไม้ ดูสงบและเขียวชุ่มชื่นเหมาะสำหรับการสร้างวัด แต่เมื่อพิจารณาแล้ว การก่อสร้างอาคารหลังใหม่และระบบสาธารณูปโภค เช่น ไฟฟ้า น้ำประปา ระบบกำจัดน้ำเสีย มีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง อีกทั้งยังขาดระบบขนส่งสาธรรณะในบริเวณนั้น ทำให้การสร้างวัดจำต้องชะลอไปก่อน

ต่อมาคุณปราณี วงสาสนธ์แจ้งว่า มีบ้านที่กำลังประกาศขาย พร้อมทั้งเสนอราคามา ทำให้เกิดแนวคิดว่า การซื้อบ้านที่สร้างเสร็จแล้วจะประหยัดค่าใช้จ่ายและเหมาะสมกับกำลังทรัพย์ที่สาธุชนพอที่จะสนับสนุนได้ ในที่สุดก็ได้บ้านหลังหนึ่งในเมืองเอสเหลิฟ (Eslöv) ที่มีสภาพสมบูรณ์ เหมาะสมและราคาไม่แพง ขนาดเนื้อที่ใช้สอยภายในประมาณ ๖๐๐ ตารางเมตร ขนาดที่ดินประมาณ ๗๔๐๐ ตารางเมตร ประกอบด้วยสองห้องนอนใหญ่ ห้องน้ำและส้วมสามห้อง ห้องโถงขนาด ๘ x ๑๒ เมตร จำนวนสามห้องและห้องขนาด ๑๐ x ๒๐ เมตรหนึ่งห้อง และหนึ่งห้องครัว

จากนั้น มีการตกลงการซื้อกับทางเจ้าของบ้านและธนาคาร และจดทะเบียนเป็นสมาคมโดยใช้ชื่อว่า “วัดสังฆบารมี” โดยพระเทพปริยัติวิมลเป็นผู้ตั้งชื่อให้ หลังจากการซื้อขาย จึงมีการปรับปรุงภายใน เพื่อให้เหมาะสมกับการประกอบกิจกรรมทางศาสนา

“วัดสังฆบารมีเป็นบารมี ๑ใน ๓ ของวัดคณะสงฆ์ธรรมยุตที่ตั้งอยู่ในทวีปยุโรป บารมีแรกคือ “วัดพุทธบารมี” ณ เมืองฮัมบวร์ก ประเทศเยอรมันนี บารีมีที่สองคือ “วัดธรรมบารมี” ณ เมืองดอร์ทมูนด์ ประเทศเยอรมันนีเช่นเดียวกัน ส่วนอีกบารมีเป็นบารมีที่สามคือ “วัดสังฆบารมี” ณ เมืองอีสเลิฟ ประเทศสวีเดน”

วันที่ ๙ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๙ เป็นวันที่วัดสังฆบารมีสร้างเสร็จและพร้อมที่จะให้พุทธศาสนิกชนเข้ามาเยี่ยมเยือน แต่กระนั้นการปรับปรุงต่าง ๆ ก็ยังคงดำเนินไปโดยได้รับความช่วยเหลือในด้านต่าง ๆ จากผู้มีจิตศรัทธา

“ตอนนั้นวัดยังไม่มีอะไรเลย ความร้อนก็ยังไม่มี ต้องใช้จุดเทียน มีท่านพระครูปลัด ธงชัยและครอบครัววงศาสนทุกคน พวกเราช่วยงานกันอย่างเต็มที่กับพระครูปลัดธงชัยและมีท่านพระครูพิเนตศาสนคุณเป็นที่ปรึกษาและคุณนงลักษณ์ (พี่อี๊ด) เป็นผู้นำ” ป้าสุวรรณา Narvell (จากบทสัมภาษณ์ในหนังสือครบรอบ ๕ ปีวัดสังฆบารมี)

“ตอนนั้นวัดไม่มีเครื่องทำความร้อน หนาวเย็นไปหมดทั้งวัด ป้าก็ซื้อเครื่องทำความร้อนมาสองตัว แล้วก็มีคนเอาเครื่องทำความร้อนที่เป็นตู้มาถวายและเอามาตั้งในครัว กิน นอนเล่นกันในครัว สนุกดีนะ ป้าดวง ป้าใบและคุณอี๊ดก็เป็นหัวเรี่ยวหัวแรง เราก็มาสมทบช่วยกัน วัดมันก็ใหญ่ขึ้น ป้าก็ดีใจมาก ๆ ที่มีวัด จนป่านนี้ก็ยังดีใจก็คิดว่าจะอยู่อย่างนี้และจะช่วยวัดเท่าที่ป้าช่วยได้ ไม่ทิ้งวัดตราบใดที่วัดยังมีหลวงพ่ออยู่” ป้าติ๊ก (จากบทสัมภาษณ์ในหนังสือครบรอบ ๕ ปีวัดสังฆบารมี)

ตลอดระยะเวลา ๑๐ ปีที่ผ่านมา วัดสังฆบารมีแห่งนี้ได้ทำหน้าที่เป็นศูนย์รวมจิตใจให้กับคนไทยที่อาศัยอยู่ทางภาคใต้ของสวีเดน ทำให้พวกเขารู้สึกว่า แม้จะอยู่ห่างไกลจากบ้านเกิดเมืองนอน แต่วัดก็ทำให้พวกเขาเหล่านั้นรู้สึกเสมือนได้อยู่ใกล้บ้านและได้ช่วยกันทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา

“มาวัดที่นี่เพราะเราต้องการที่จะได้มีสิ่งยึดเหนี่ยวเหมือนที่เรามีมาตั้งแต่เกิดนะ มาอยู่ที่นี่แล้วไม่มีวัด ก็คล้าย ๆ กับว่าไม่มีอะไร ถ้าเรามีทุกข์หรือสุขเราก็มาที่วัดและทำให้เราดำเนินชีวิตไปในด้านที่เราควรจะเป็นไป เห็นพระเป็นจุดศูนย์กลาง มีความสุขนะเพราะถ้ามาวัดแล้วเราก็ทิ้งทุกสิ่งทุกอย่างไว้เบื้องหลังแล้วเราก็มาวัด วัดทำให้เราเป็นผู้เป็นคน” พงษ์พันธ์ (จากบทสัมภาษณ์ในหนังสือครบรอบ ๕ ปีวัดสังฆบารมี)